วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

การใช้สมุนไพรรักษาโรค



การใช้สมุนไพรรักษาโรค

การใช้สมุนไพรในการรักษาโรคของชาวบ้านวัวลายมีมานานแล้ว เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านวัวลายที่ได้คิดค้นขึ้นโดยบรรพบุรุษและได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมา แม้ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเจริญรุดหน้าไปไกล แต่ก็ยังมีชาวบ้านวัวลายหลายคนที่ยังเชื่อถือ และนิยมรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยสมุนไพรกันอยู่ ด้วยสรรพคุณที่สามารถรักษาโรคได้ไม่แพ้เวชภัณฑ์สมัยใหม่ แตกต่างกันที่สนนราคาและขั้นตอนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน การรักษาด้วยตัวยาสมุนไพร พื้นบ้านยังมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของชาวบ้านอีกด้วย ดังนั้นการใช้สมุนไพรรักษาโรคบางชนิดจึงมีการสืบทอดและใช้รักษามาจนทุกวันนี้ ยาสมุนไพรดังกล่าวได้แก่

- ยาสมุนไพรบำรุงธาตุ แก้โรคกษัย และโรคริดสีดวง หรือ ยามะโหก
          ยามะโหก เป็นยาสมุนไพรบำรุงธาตุ หรือยาอายุวัฒนะที่ช่างเงินสมัยก่อนได้คิดค้นขึ้นมาเพื่อรักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว หรือแก้กษัย โรคริดสีดวงอันเกิดจากการนั่งทำงานตีเครื่องเงินเป็นเวลานาน การตีเครื่องเงินโดยใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก เช่น ฆ้อนที่ใช้ตีเงินเพื่อขึ้นรูปตามที่ต้องการ ทำให้มีอาการปวดเมื่อย เป็นโรคริดสีดวง จึงทำให้มีการคิดค้นสมุนไพรแก้โรคดังกล่าวนำมาต้มรับประทานแทนการรับประทานยาแก้ปวดเมื่อยชนิดอื่น ๆ ในสมัยก่อนช่างเงินหลายคนจะมีกาต้มยามะโหกไว้ใกล้ตัวเวลาทำงานตีเครื่องเงินโดยใช้ดื่มทั้งวันแทนน้ำ สมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของ  ยามะโหก  ได้แก่
     1. มะแตก เป็นไม้สมุนไพรยืนต้น โดยใช้ส่วนรากของต้นมะแตก มีสรรพคุณแก้โรคน้ำเหลือง
     2. ไม้แดง เป็นไม้สมุนไพรยืนต้น โดยใช้ส่วนที่เป็นเนื้อแกนของเนื้อไม้แดง มีสรรพคุณในการบำรุงโลหิต ต้มแล้วจะทำให้น้ำยาเป็นสีแดง
     3. มะพร้าวไฟ หรือ มะพร้าวนาฬิเก เป็นพืชตระกูลปาล์ม ใช้ส่วนของราก โดยรากที่แก่จะมีสีแดง มีสรรพคุณแก้ปัสสาวะขัดและท้องเสีย
     4. มะจ๋าย หรือ ต้นกำจาย หรือ หนามกำจาย เป็นพืชไม้เลื้อย ใช้ส่วนของราก มีสรรพคุณแก้โรคน้ำเหลือง แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ
     5. หนามเก๊ดเก๊า หรือ หนามเล็บแมว หรือ ชิงชี หรือ พญารากเดียว เป็นพืชไม้เลื้อย ใช้ส่วนของลำต้น (เครือ) มีสรรพคุณแก้ไข้ ตัวร้อน
     6. มะเขือแจ้ มะเขือพันธุ์พื้นเมือง เป็นพืชประเภทผักสวนครัว ใช้ส่วนรากของมะเขือแจ้ มีสรรพคุณแก้เส้นพิการ โรคน้ำเหลือง และบำรุงกำลัง
     7. หญ้าไซ เป็นพืชตระกูลหญ้า ใช้ส่วนของใบ มีสรรพคุณในการขับปัสสาวะ
     8. ข้าวจ้าวเปลือก มีสรรพคุณแก้กษัย และปวดเมื่อยตามร่างกาย

โดยสมุนไพรทั้ง 8 ชนิดข้างต้น จะนำไปตากแห้งและนำมามัดรวมกันเป็นมัด ๆ ใช้ต้มและดื่มแทนน้ำ
- สมุนไพรรักษาโรคฟัน (ฮมเขี้ยว) -
          ฮมเขี้ยว คือการรักษาโรคฟัน (เขี้ยว)โดยการอบหรือรม (ฮม) ด้วยควันที่ได้จากการเผาไหม้ของสมุนไพร เพื่อรักษาโรคไซนัส บรรเทาอาการปวดฟัน เหงือกบวม และระงับกลิ่นปาก โดยใช้เครื่องมือที่ทำจากวัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น ประกอบด้วย กะลามะพร้าว กระบอกไม้ไผ่ ผางปะตี๊บ (ถ้วยประทีบทำจากดินเหนียว) ถาดกลม ยาเม็ดสมุนไพร (ผู้ให้ข้อมูลไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อสมุนไพร มีลักษณะเป็นเมล็ดพืชเล็ก ๆ สีดำคล้ายเม็ดงา) และน้ำมันสมุนไพร (ผู้ให้ข้อมูลไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อสมุนไพร มีลักษณะเป็นน้ำมันเหนียว ๆ คล้ายน้ำมันงา)
วิธีการรักษา
     1. นำถ้วยประทีบดินเหนียวเผาในเตาถ่านให้ร้อนจัด ใช้คีมคีบถ้วยออกมาวางไว้บนแท่นไม้ที่วางอยู่บนถาดกลมซึ่งมีน้ำขังประมาณครึ่งถาด
     2. นำยาเม็ดสมุนไพร ประมาณ 1-2 ช้อนชา ใส่ลงในถ้วยประทีปที่ร้อน จากนั้นเท น้ำมันสมุนไพรในในปริมาณที่เหมาะ จะเกิดควันสมุนไพรสีขาวพุ่งออกมา
     3. นำกะลามะพร้าวที่เจาะรูเป็นวงกลมตรงกลาง สำหรับเสียบกระบอกไม้ไผ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5- 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-7 นิ้วครอบลงไปบนถาด ให้ถ้วยประทีบอยู่ตรงกลางกะลา น้ำที่ขังอยู่ในถาดจะช่วยให้ควันสมุนไพรอบอวลอยู่ในกะลา
     4. ควันสมุนไพรจะพุ่งออกมาทางปากกระบอกไม้ไผ่ ให้คนไข้อมกระบอกไม้ไผ่ ควันสมุนไพรอบจะอยู่ในช่องปาก การอบแต่ละครั้งใช้เวลานานประมาณ 2-3 นาที
     5. ทำซ้ำขั้นตอนที่ 1-4 รวม 3 ครั้ง ทิ้งไว้สักพัก โดยไม่ให้บ้วนปากทันที
        เมื่อทำเสร็จแต่ละครั้ง หมอเมือง ก็จะยกกะลาให้คนไข้ดูด้านในกะลา และจะชี้ให้คนไข้ดูสิ่งที่ติดอยู่ในกะลา เป็นลักษณะคล้ายตัวหนอนเล็ก ๆ สีขาว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าคือตัวเชื้อโรคหรือตัวสัตว์ที่ทำให้เกิดอาการปวดฟัน เหงือกบวม และทำให้มีกลิ่นปาก ซึ่งข้อเท็จจริงอาจเป็นไปได้ว่าสิ่งที่ติดอยู่ในกะลา อาจเป็นส่วนของเมล็ดสมุนไพรที่เกิดการแตกตัวอันเนื่องมาจากปฏิกริยาความร้อนและน้ำมันสมุนไพรที่ราดลงไป แต่ส่วนใหญ่จะเชื่อว่าเป็นตัวหนอนหรือเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคฟัน อย่างก็ตาม การฮมเขี้ยว  เป็นวิธีการรักษาโรคฟันโดยสมุนไพรที่มีมานานหลายสิบปีมาแล้วและ ปัจจุบันก็ยังคงมีการรักษาอยู่ ณ บ้านเลขที่ 19 ถนนวัวลาย ซอย 3 โดยมีชาวบ้านทั้งในหมู่บ้านวัวลาย ชาวเขา ตลอดจนประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมารับการรักษา บางคนก็รักษามาตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังมารับการรักษาอยู่เสมอ ๆ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น